พิกัดน้ำหนัก
เวลเตอร์เวต: มากกว่า 170 ปอนด์ และไม่เกิน 185 ปอนด์
ไลต์เวต: มากกว่า 155 ปอนด์ และไม่เกิน 170 ปอนด์
เฟเธอร์เวต: มากกว่า 145 ปอนด์ และไม่เกิน 155 ปอนด์
แบนตัมเวต: มากกว่า 135 ปอนด์ และไม่เกิน 145 ปอนด์
ฟลายเวต: มากกว่า 125 ปอนด์ และไม่เกิน 135 ปอนด์
สตรอว์เวต: มากกว่า 115 ปอนด์ และไม่เกิน 125 ปอนด์
อะตอมเวต: มากกว่า 105 ปอนด์ และไม่เกิน 115 ปอนด์
พิกัดน้ำหนักของ ONE จะแตกต่างจากองค์กรจัดการแข่งขันการต่อสู้อื่น โดย ONE เป็นผู้นำในวงการการต่อสู้ที่ไม่อนุญาตให้นักกีฬาลดน้ำหนักด้วยวิธีการตัดน้ำออกจากร่างกาย แต่เลือกใช้วิธีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อให้นักกีฬาไม่ขาดน้ำ มีความสมบูรณ์แข็งแรง และมีสุขภาพที่ดีตลอดการแข่งขัน
วิธีการใหม่ซึ่งนำมาใช้ในการแข่งขันเป็นที่แรก เน้นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักกีฬา ด้วยการใช้ระบบ “น้ำหนักปกติ (walking-weight)” เป็นเกณฑ์ โดยจะมีการชั่งน้ำหนัก และทดสอบระดับน้ำในร่างกายทั้งก่อนและระหว่างสัปดาห์แข่งขัน
ระบบการชั่งน้ำหนักที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ ถูกกำหนดขึ้นหลังจากการหารือและให้คำแนะนำโดยทีมแพทย์และทีมจัดการแข่งขันของ ONE ประกอบด้วย “ดร.วอร์เรน วอง” รองประธานฝ่ายบริการการแพทย์, “ดร.เจมส์ โอกาโมโตะ” หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์, “แมตต์ ฮูม” รองประธานอาวุโสฝ่ายการแข่งขัน และ “ริช แฟรงคลิน” รองประธาน
ระเบียบปฏิบัติช่วงสัปดาห์เก็บตัวก่อนการแข่งขัน
- นักกีฬาทุกคนต้องเข้ารับการทดสอบระดับน้ำในร่างกายและชั่งน้ำหนักตัว ภายในช่วงเวลา 24 ถึง 48 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน
- การทดสอบวัดระดับน้ำจะดำเนินการโดยการตรวจค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ นักกีฬาทุกคนจะต้องส่งตัวอย่างปัสสาวะภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์
- ทีมแพทย์ของ ONE จะตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะของนักกีฬาโดยใช้เครื่องวัดความเข้มข้นของสารละลายที่ชื่อว่า “Refractometer” (รีแฟรคโตมิเตอร์) เพื่อยืนยันว่านักกีฬามีระดับน้ำที่เหมาะสม (ระดับน้ำที่เหมาะสม = ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ≤1.025)
- น้ำหนักตัวของนักกีฬาต้องอยู่ภายในพิกัดน้ำหนักตามข้อตกลง หรือภายในพิกัดเฉพาะ (แคตช์เวต) ที่กำหนด
- นักกีฬาที่ทำค่าน้ำผ่านแล้วจะต้องเข้ารับการชั่งน้ำหนักตัวทันที
- นักกีฬาที่ไม่ผ่านการวัดระดับน้ำจะไม่ได้รับอนุญาตให้ชั่งน้ำหนักจนกว่าค่าน้ำจะผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
- นักกีฬาที่ค่าน้ำผ่านและชั่งน้ำหนักผ่านครบทั้งสองรายการจะได้รับอนุญาตให้ลงแข่งในรุ่นน้ำหนักตามที่ตกลง
- นักกีฬาที่ทำค่าน้ำผ่านแต่ชั่งน้ำหนักไม่ผ่านสามารถเข้ารับการวัดระดับค่าน้ำและชั่งน้ำหนักซ้ำได้อีกครั้ง ภายในกรอบเวลา 3 ชั่วโมง โดยนักกีฬาจะต้องผ่านการวัดระดับน้ำและน้ำหนักตัวครบทั้งสองรายการต่อเนื่องกัน
- หากนักกีฬาไม่ผ่านการวัดระดับน้ำ หรือชั่งน้ำหนักไม่ผ่านภายในกรอบเวลา 3 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ นักกีฬาจะยังคงได้รับอนุญาตให้ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจสอบระดับน้ำ และชั่งน้ำหนักตัวนอกกรอบเวลาที่กำหนด เพื่อนำไปสู่การเจรจากับคู่แข่งขันเพื่อตกลงแข่งขันในพิกัดเฉพาะ (แคตช์เวต) ต่อไป
การแข่งขันในพิกัดเฉพาะ (แคตช์เวต) จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินต่อไปได้ หากนักกีฬาทั้งสองฝ่ายมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 105 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวของคู่แข่งขันที่ชั่งได้ครั้งสุดท้าย โดยนักกีฬาฝ่ายที่ไม่สามารถทำน้ำหนักได้ตามเกณฑ์จะต้องจ่ายค่าชดเชย (ซึ่งหักจากค่าตัวที่ได้รับ) ให้แก่คู่แข่งขันตามแต่จะตกลงกัน
นโยบายต่อต้านการใช้สารกระตุ้น
นโยบายต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของ ONE ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นขององค์กรที่จะปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬา รวมถึงการรักษาสิทธิ์ของนักกีฬาในการแข่งขันที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 การทดสอบและการจัดการการใช้สารกระตุ้นระหว่างประเทศ (International Doping Tests & Management: IDTM) ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการต่อต้านการใช้สารกระตุ้น ร่วมกับ องค์กรกีฬาปลอดสารต้องห้ามนานาชาติ (Drug Free Sport International: DFSI) ซึ่งเป็นพันธมิตรภายใต้การควบรวมกิจการ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานอิสระในการเก็บตัวอย่างจากนักกีฬาที่ลงแข่งในรายการของ วัน แชมเปียนชิพ
ตัวอย่างจะถูกเก็บโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้สารกระตุ้น (IDTM’s Doping Control Officers: DCO) ของ IDTM และส่งไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) เพื่อทำการทดสอบอย่างอิสระ และดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ DCO ของ IDTM กว่า 500 คน ในกว่า 100 ประเทศ ที่มีประสบการณ์ยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้สามารถเก็บตัวอย่างจากนักกีฬาที่ลงแข่งขันได้ทั่วโลก
กฎกติกาการแข่งขัน
กติกา ONE การต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA)

ONE ใช้กฎกติกาการแข่งขันศิลปะการต่อสู้สากลในการแข่งขัน ซึ่งผสมผสานแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากทั้งในเอเชียและทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยนักกีฬาทุกคนจะต้องสวมนวม MMA ขนาด 4 ออนซ์ในการแข่งขัน
ระยะเวลาแข่งขัน
การแข่งขันแต่ละคู่มีกำหนด 3 ยกๆ ละ 5 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก
การแข่งขันชิงแชมป์โลกมีกำหนด 5 ยกๆ ละ 5 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก
วิธีได้รับชัยชนะ
ชัยชนะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้:
- การชนะน็อก
- การชนะทีเคโอ โดยกรรมการ แพทย์สนาม หรือพี่เลี้ยงสั่งยุติการแข่งขัน
- การซับมิชชัน (Submission)
- การซับมิชชันทีเคโอ โดยกรรมการ แพทย์สนาม หรือพี่เลี้ยงสั่งยุติการแข่งขัน
- การตัดสินของกรรมการ
- การตัดสินทางเทคนิค
- ผู้แข่งขันขอยอมแพ้ด้วยวาจา
- การตัดสิทธิ์
การชนะโดยการตัดสิน
เมื่อการแข่งขันดำเนินไปจนครบทุกยก จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินของกรรมการ โดยกรรมการทั้ง 3 คนจะตัดสินจากภาพรวมของการแข่งขันทั้งหมด ไม่ใช่ยกต่อยก โดยนำเกณฑ์การตัดสินของ ONE มาจัดลำดับเพื่อชี้ขาดผู้ชนะจากการแข่งขันครั้งนั้น
เกณฑ์การพิจารณาของ ONE
- การทำให้คู่ต่อสู้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับการถูกน็อกเอาต์ หรือซับมิชชัน
- ความเสียหายจากการต่อสู้ (ภายใน, สะสม, บาดแผลที่เห็นได้ชัด)
- ความต่อเนื่องในการโจมตี และยุทธวิธีบนสังเวียน (การคุมเกมภาคพื้น, ตำแหน่งที่ได้เปรียบกว่า)
- การทำให้คู่ต่อสู้ลงพื้น (Takedown) และการป้องกันตัวเองจากการเทกดาวน์
- ความดุดันในการต่อสู้
กติกา ONE มวยไทย

ONE ใช้กฎกติกามวยไทยสากลในการแข่งขัน โดยนักกีฬาทุกคนจะต้องสวมนวมเปิดนิ้ว ขนาด 4 ออนซ์ในการแข่งขัน
ระยะเวลาแข่งขัน
การแข่งขันแต่ละคู่มีกำหนด 3 ยก ๆ ละ 3 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก ส่วนการแข่งขันชิงแชมป์โลกมีกำหนด 5 ยก ๆ ละ 3 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก
วิธีได้รับชัยชนะ
ชัยชนะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- การชนะน็อกด้วยหมัด เตะ เข่า ศอก หรือการออกอาวุธอื่น ๆ โดยไม่ผิดกติกา
- การชนะทีเคโอ โดยผู้ชี้ขาดบนเวที แพทย์สนาม หรือพี่เลี้ยง เห็นควรว่าต้องยุติการแข่งขัน
- การชนะทีเคโอ โดยนักกีฬาถูกนับสามครั้งในหนึ่งยก หรือสี่ครั้งในการแข่งขัน
- นักกีฬาขอให้ยุติการแข่งขันทางวาจา
- การตัดสินของกรรมการ
- การตัดสินทางเทคนิค
- การตัดสิทธิ์
การชนะโดยการตัดสิน
เมื่อการแข่งขันดำเนินไปจนครบทุกยก จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินของกรรมการผู้ให้คะแนน กรรมการทั้ง 3 คนจะให้คะแนนการแข่งขันในแต่ละยกโดยใช้ระบบ “10-Point-Must” และตัดสินผู้ชนะจากเสียงข้างมากของกรรมการ หากคะแนนเท่ากัน กรรมการจะใช้เกณฑ์การพิจารณาของ ONE มาจัดลำดับเพื่อชี้ขาดผู้ชนะจากการแข่งขัน
เกณฑ์การพิจารณาของ ONE
- การถูกนับ
- ความเสียหายจากการต่อสู้ (ความบอบช้ำภายใน, อาการเจ็บสะสม, บาดแผลที่เห็นได้ชัด)
- จำนวนการโจมตีที่เข้าเป้า
- ความดุดันในการต่อสู้ และยุทธวิธีการใช้พื้นที่บนสังเวียน (การคุมเกมเหนือกว่าในการแข่งขัน)
กติกา ONE คิกบ็อกซิ่ง

ONE ใช้กฎกติกาคิกบ็อกซิ่งสากลในการแข่งขัน นักกีฬาที่ลงแข่งในรุ่นแบนตัมเวต (135-145 ป.) หรือต่ำกว่าจะต้องสวมนวมมวยสากลขนาด 8 ออนซ์ในการแข่งขัน นักกีฬาที่ลงแข่งในรุ่นเฟเธอร์เวต (145-155 ป.) หรือสูงกว่าจะต้องสวมนวมมวยสากลขนาด 10 ออนซ์ในการแข่งขัน
ระยะเวลาแข่งขัน
การแข่งขันแต่ละคู่มีกำหนด 3 ยก ๆ ละ 3 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก การแข่งขันชิงแชมป์โลกมีกำหนด 5 ยก ๆ ละ 3 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก
วิธีได้รับชัยชนะ
ชัยชนะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- การชนะน็อกด้วยหมัด เตะ หรือ เข่า
- การชนะทีเคโอ โดยผู้ชี้ขาดบนเวที แพทย์สนาม หรือพี่เลี้ยง เห็นควรว่าต้องยุติการแข่งขัน
- การชนะทีเคโอ โดยนักกีฬาถูกนับสามครั้งในหนึ่งยก หรือสี่ครั้งในการแข่งขัน
- นักกีฬาขอให้ยุติการแข่งขันทางวาจา
- การตัดสินของกรรมการ
- การตัดสินทางเทคนิค
- การตัดสิทธิ์
การชนะโดยการตัดสิน
เมื่อการแข่งขันดำเนินไปจนครบทุกยก จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินของกรรมการ กรรมการทั้ง 3 คนจะให้คะแนนการแข่งขันในแต่ละยก โดยใช้ระบบ “10-Point-Must” และตัดสินผู้ชนะจากเสียงข้างมากของกรรมการ หากคะแนนเท่ากัน กรรมการจะใช้เกณฑ์การพิจารณาของ ONE มาจัดลำดับเพื่อชี้ขาดผู้ชนะจากการแข่งขัน
เกณฑ์การพิจารณาของ ONE
- การถูกนับ
- ความเสียหายจากการต่อสู้ (ความบอบช้ำภายใน, อาการเจ็บสะสม, บาดแผลที่เห็นได้ชัด)
- จำนวนการโจมตีที่เข้าเป้า
- ความดุดันในการต่อสู้ และยุทธวิธีการใช้พื้นที่บนสังเวียน (การคุมเกมเหนือกว่าในการแข่งขัน)
กติกา ONE ปล้ำจับล็อก

ONE ใช้กฎกติกาปล้ำจับล็อกสากลในการแข่งขัน
ระยะเวลาแข่งขัน
การแข่งขันทุกคู่ รวมถึงการแข่งขันชิงแชมป์โลก จะทำการแข่งขันเพียงหนึ่งยก เวลา 10 นาที
วิธีได้รับชัยชนะ
ชัยชนะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- การซับมิชชัน
- ผู้แข่งขันขอยอมแพ้ด้วยวาจา
- ผู้ชี้ขาดบนเวทีสั่งยุติการแข่งขันเมื่อเล็งเห็นถึงอันตราย
- พี่เลี้ยงขอยุติการแข่งขัน
- การตัดสินของกรรมการ
การชนะโดยการตัดสิน
เมื่อการแข่งขันดำเนินไปจนหมดยก จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินของกรรมการผู้ให้คะแนน กรรมการทั้ง 3 คนจะให้คะแนนตามจำนวนครั้งที่นักกีฬาจับล็อกคู่ต่อสู้ หรือมีความพยายามซับมิชชันที่เห็นได้ชัด
กรรมการจะตัดสินชัยชนะให้กับนักกีฬาที่สามารถจับล็อกคู่ต่อสู้ได้มากกว่า หากมีการจับล็อกเป็นจำนวนครั้งที่เท่ากัน หรือต่างฝ่ายต่างไม่สามารถจับล็อกคู่ต่อสู้ได้ นักกีฬาที่แสดงความมุ่งมั่นและความดุดันในการต่อสู้มากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ
ในการดึงการ์ด (Guard-Pulling) หรือตำแหน่งตั้งรับและรอโจมตีจากด้านล่าง นักกีฬาจะต้องเคลื่อนไหวเข้าหาคู่ต่อสู้ โดยมีเจตนาที่จะเข้าปะทะด้วยท่าต่าง ๆ โดยนักกีฬาต้องหาจังหวะเข้าปะทะคู่ต่อสู้ตลอดเวลา การหลีกเลี่ยงการปะทะหรือการถ่วงเวลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะส่งผลให้ถูกตักเตือนทางวาจาหรือได้รับใบเหลือง และกรรมการจะเริ่มการแข่งขันใหม่จากตำแหน่งยืน
นักกีฬาจะได้รับใบเหลืองหากถ่วงเวลาการแข่งขัน และถูกตัดคะแนนหนึ่งแต้มจากการจับล็อกที่ทำได้ หากนักกีฬาได้รับใบเหลืองมากกว่าฝ่ายตรงข้าม หรือ นักกีฬาทั้งสองคนได้รับใบเหลืองเท่ากัน การตัดสินจะพิจารณาจากเกณฑ์มาตรฐาน
เกณฑ์การพิจารณาของ ONE
- จำนวนครั้งที่จับล็อก
- ความดุดันในการต่อสู้