อุปสรรคไม่อาจขวาง “จาบาร์ แอสเครอฟ” จากเส้นทางสู่ความสำเร็จ

Dzhabar Askerov YK4_2785

ไม่เคยมีอะไรง่ายสำหรับชีวิตของ “Genghis Khan” จาบาร์ แอสเครอฟ แต่ด้วยความแน่วแน่ที่จะประสบความสำเร็จช่วยให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่พร้อมจะหยุดเส้นทางของหลายๆ คนเอาไว้

จอมน็อกเอาต์ชาวรัสเซียจะต้องขึ้นสังเวียนเผชิญหน้ากับ “AK47” เซมี ซานา ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้ ศึก  ONE: DREAMS OF GOLD  โดยไม่ละสายตาจากเป้าหมายที่ต้องการก้าวผ่านความทุกข์ยากและเรื่องราวเลวร้ายในอดีต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัว

ขณะที่ศิลปะการต่อสู้ได้มีส่วนในการเสริมสร้างสปิริตและจิตวิญญาณในตัว จนกลายเป็นนักสู้ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง และตอนนี้เขาอยู่ห่างจากเป้าหมายในการคว้าชัยชนะการแข่งขัน ONE คิกบ็อกซิ่ง เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ รุ่นเฟเธอร์เวต เพียงก้าวเดียวเท่านั้น

พ่อผู้ล่วงลับของ แอสเครอฟ รู้ดีว่าศิลปะการต่อสู้เป็นหนทางที่จะสร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับลูกชาย แม้เจ้าตัวจะไม่สนใจมันเลยสักนิดในช่วงแรก

ครอบครัวของเขายากจน แต่พ่อมั่นใจว่าจะส่งเสียให้เขาได้ตลอดรอดฝั่ง จึงพยายามจัดแจงตารางเรียน และคอยไปรับส่งไม่ให้ขาดซ้อมเลยสักครั้ง

ยูโด มวยสากล มวยปล้ำ และมวยไทย ให้ทักษะหลายๆ ด้านในการสร้างอาชีพ รวมถึงหลอมเป็นตัวตนของเขา แม้ความเป็นจริงเขาจะไม่มีทุนทรัพย์ในการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นก็ตาม

นี่เป็นเพียงอีกแง่มุมหนึ่งในวัยเด็กซึ่งปลูกฝังให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็ง แม้จะมีหลายอย่างที่เสียเปรียบ แต่เขาก็ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเลยแม้แต่น้อย

“ผมต้องใส่ชุดยูโดของพี่ชายไปเรียนมวยปล้ำ และไม่เคยใช้เทปพันมือในการชก ข้อนิ้วมือของผมถึงพังไปหมดแบบนี้”

“เด็ก 40 คนในยิม มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่มีนวมใส่ พวกเราไม่สามารถจ่ายเงินซื้อแม้กระทั่งยี่ห้อที่ถูกที่สุด ดังนั้นผมเลยเอาถุงมือกันหนาวมาใช้ซ้อมมวยแทน”

“เมื่อคุณเป็นเด็ก คุณแค่ต้องยอมรับกับสภาพความเป็นอยู่ในชีวิต และต้องเดินหน้าไปพร้อมกับมัน”

ตลอดการฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ ทำให้ แอสเครอฟ แสดงศักยภาพความแข็งแกร่งอย่างเห็นได้ชัด แต่นั่นยังไม่เท่ากับที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียพ่อในวัย 15 ปี

แม้เรื่องนี้จะสะเทือนใจมากที่สุด แต่เขากลับใช้ความโศกเศร้าเป็นพลังขับเคลื่อนให้เขาไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

“ตอนที่พ่อเสีย ผมไม่มีกระจิตกระใจ แต่เมื่อไม่มีใครคอยนำทางแล้ว ผมจึงต้องผลักดันตัวเอง”

“พ่อตั้งความหวังเรื่องศิลปะการต่อสู้กับผมไว้มาก จนวนเวียนเข้าไปอยู่ในความฝัน ในหัวใจและจิตวิญญาณของพ่อ  จนผมล้มเลิกไม่ได้”

แอสเครอฟ มีความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จอย่างแรงกล้า จึงซื้อตั๋วเดินทางเที่ยวเดียวเพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศไทยเมื่อวัย 19 ปี

เขาไปอาศัยอยู่กับกลุ่มเพื่อนอีก 4 คนที่มุ่งหน้ามาก่อนหน้านี้ แม้ “สยามเมืองยิ้ม” จะไม่ใช่แหล่งความสุขของวัยรุ่นอย่างเขาก็ตาม

“ผมหวังจะทำอย่างเต็มที่ แต่แรกๆ ผมวุ่นอยู่กับการย้ายห้องเช่าไปเรื่อย เอาชีวิตรอดด้วยข้าวและน้ำ ผมกินคาร์โบไฮเดรตเยอะมาก เพื่อที่จะพยายามรักษาน้ำหนักไว้”

โดยธรรมชาติแล้วเขาไม่ใช่ประเภทชอบตัดพ้อต่อความทุกข์ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาได้เห็นว่าตัวเองโชคดีแค่ไหน เมื่อเทียบกับชีวิตของคนไทยทั่วไปบางคน

อย่างเช่นช่วงปีแรกที่เขาอยู่เมืองไทย แอสเครอฟ มีรองเท้าใส่วิ่งแค่คู่เดียวซึ่งอยู่ในสภาพขาดกระจุย แต่เมื่อได้เห็นความพยายามเอาชีวิตรอดของเพื่อนคนไทย เขาจึงตระหนักว่าชีวิตเขาไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล

“ผมเห็นนักกีฬาบางคนเติบโตมาด้วยการใช้ชีวิตและฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมที่ลำบาก แต่พวกเขาก็ยังคงยิ้มได้ ถึงแม้ผมจะไม่ได้มีอะไรที่เพียบพร้อม แต่สำหรับบางคนนั้นย่ำแย่กว่ามาก”

“ผมไม่มีเงินที่จะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดใจ แต่ยังมีนักสู้ไทยที่อายุยังน้อย วิ่งอยู่บนถนนคอนกรีตด้วยระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร แบบเท้าเปล่า”

“มันทำให้ผมตระหนักว่า ชีวิตผมก็ไม่ได้แย่สักเท่าไหร่ และย้ำเตือนให้ผมจงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่”

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ แอสเครอฟ ตัดสินใจย้ายจากดาเกสถานมายังประเทศไทย เพราะต้องการสร้างชื่อเสียงและส่งเงินกลับบ้าน แต่เขากลับพบกับความยากลำบากเมื่อขึ้นสู่สังเวียนการต่อสู้

เขาผ่านการแข่งขันระดับอาชีพมาเพียง 7 ไฟต์ แต่มักถูกประกบคู่กับนักสู้ตัวอันตรายอยู่ตลอด แต่เมื่อเข้าตาจน เพราะต้องการไต่อันดับขึ้นไปสูงๆ และอยากได้เงินไปเลี้ยงครอบครัว เขาจึงต้องยอมรับทุกโอกาสที่เข้ามา

“ค่าตัวผมน้อยมาก แต่ผมต้องการเงิน จึงต้องตอบตกลงที่จะสู้กับใครก็ได้”

“ผมมักเจอกับคู่แข่งที่มากประสบการณ์ และขึ้นชกทุกสัปดาห์ แต่กลายเป็นว่าการเงินผมกลับแย่ลง”

 “ผมเหมือนลูกแกะที่ถูกโยนลงในฝูงหมาป่า ผมจำได้ว่าเคยขึ้นเวที 5 ครั้งในรอบ 3 สัปดาห์ ไข้ขึ้นสูงถึง 39.6 องศา หน้าผมเยินไปหมด มันเป็นเรื่องที่บ้าสุด ๆ”

Dzhabar Askerov defeats Enriko Kehl via decision in the ONE Super Series Featherweight Kickboxing World Grand Prix at ONE: ENTER THE DRAGON in Singapore

แอสเครอฟ มักจะออกมาจากสังเวียนในสภาพที่บอบช้ำและบาดเจ็บ แต่กลับไม่มีใครแนะนำอะไรให้เขา เขาจึงต้องเดินหน้าสู่ด้วยตัวเอง

เขาเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่อาจยุติเส้นทางอาชีพของเขาได้ ยิ่งต้องเจอกับเรื่องเลวร้ายเท่าไหร่ หัวใจเขากลับเข้มแข็งขึ้น และไม่เคยคิดที่จะล้มเลิก

แอสเครอฟใส่ความมุ่งมั่นพยายาม ก่อนจะสร้างสถิติอย่างสวยงาม 108-35-2 และคว้าแชมป์โลกคิกบ็อกซิ่งมาครองได้ถึง 4 สมัย

ตอนนี้ เขาไม่มีความเคลือบแคลงใดๆ และพร้อมที่จะก้าวไปคว้าแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ซึ่งมีเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

“มันช่วยสร้างตัวตนของผมขึ้นมา”

“ผมไม่ต้องขอเงินจากที่บ้านตั้งแต่อายุ 19 และกลายเป็นผมที่เริ่มส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านแทน ศิลปะการต่อสู้สอนให้ผมมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและครอบครัว ทำให้ผมเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว”

กรุงเทพฯ | 16 สิงหาคม | 17:00 น. | ONE: DREAMS OF GOLD | TV: ตรวจสอบวัน-เวลาออกอากาศจากสถานีโทรทัศน์ในประเทศ | บัตรเข้าชม: http://bit.ly/onegold19

 

Special Banner For ONE Championship Merchandise

ดูเพิ่มเติมในหมวด บทความ

Kade and Tye Ruotolo
Untitled
Ryosuke Honda vs Sanzhar Zakirov OL 54(10)
Female Champs
Ricardo Bravo vs Kenan Bayramov OL50 (28)
Nong O Hama Jonathan Haggerty ONE Fight Night 9 4
Cover_OL49_Freddie03
Takeru Segawa
10_Athletes 1920x1278
OFN14   Stamp VS Ham Seo Hee (108)
OL34   Rodtang vs Superlek30
OFN11   Kade Ruotolo vs Tommy Langaker60